วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis – Type Thinking)

การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis – Type Thinking)
สรุปจากหนังสือของ ศ. ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ความหมายของการสังเคราะห์
การสังเคราะห์ (Synthesis) หมายถึง การผสมผสานรวมกันอย่างกลมกลืนของส่วนประกอบต่าง ๆ จนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์ และคุณสมบัติเฉพาะ มี 2 ลักษณะ คือ
1. เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดจากการ "หลอมรวม" ส่วนประกอบย่อยต่างๆ จนไม่สามารถมองเห็นส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้น
2. เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดจากการ "ถักทอ" องค์ประกอบย่อยต่างๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งอาจยังมองเห็นองค์ประกอบย่อยอยู่
ความหมายของการคิดเชิงสังเคราะห์
การคิดเชิงสังเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการคิดที่ดึงองค์ประกอบต่างๆ มาหลอมรวม หรือถักทอภายใต้โครงร่างใหม่อย่างเหมาะสม ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
• เป็นมิติการคิดที่ต้องออกแรงทั้งในด้านการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะคิด
ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากและกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วไป
• เมื่อได้ข้อมูลเหล่านั้นมาแล้วจะต้องออกแรงดึงแนวคิดจากส่วนประกอบเหล่านั้น คัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวโยงกับเรื่องที่คิด
• นำมาหลอมรวมแนวคิดเหล่านั้นหรือถักทอความคิดต่างๆ ให้อยู่ภายใต้ตัวแบบโครงร่างเดียวกันซึ่งได้กำหนดขึ้น เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
การคิดเชิงสังเคราะห์จะเกิดขึ้นเมื่อ
• เราจำเป็นต้องหาทางเลือกใหม่
• เราต้องการทำสิ่งใหม่
• เราต้องการหาข้อสรุปที่กระจัดกระจายเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
การคิดเชิงสังเคราะห์ จัดประเภทได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. การคิดสังเคราะห์เชิงวิพากษ์ เป็นการวิพากษ์เรื่องราวต่างๆ หรือประเด็นต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปบางประการที่เหมาะสม สามารถนำมาใช้ในสิ่งที่เราต้องการต่อไป และตอบวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้
2. การคิดสังเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ เป็นการนำแนวความคิดต่างๆ หรือประเด็นต่างๆ ที่ได้รับมาจัดรูปความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างสมเหตุสมผล กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนสามารถนำมาใช้งานบางอย่างตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ประโยชน์ของการคิดเชิงสังเคราะห์

• ช่วยให้เราสามารถจัดระบบระเบียบข้อมูลที่กระจัดกระจายในความคิดของเราได้อย่างเหมาะสม ความคิดของเราจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่คลุมเครือ และนำมาใช้ในชีวิตจริงได้
• เกิดความรอบคอบในแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากผ่านการคิดสังเคราะห์ที่มีข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน โอกาสเกิดข้อผิดพลาดน้อย สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมและตัวเราได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
• ช่วยหาทางออกของปัญหาโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ทำให้เราไม่ต้องคิดสิ่งต่างๆ ราวกับว่าสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่สามารถนำสิ่งที่คนอื่นคิดหรือได้ปฏิบัติมาแล้ว มาใช้ประโยชน์ได้ โดยดูจากเรื่องเดียวกันในหลายๆ ที่ หลายๆ แห่ง ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม เอามาผสมผสานกันเป็นทางออกของปัญหา
• ประหยัดเวลาการคิด และทำให้เราต่อยอดและสร้างแนวคิดที่เป็นของตนเองขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
• ช่วยให้มีความเข้าใจที่คมชัด และครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เมื่อเราต้องการหาทางออกให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง และสามารถปรับใช้อย่างสร้างสรรค์ในสถานการณ์จริงได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
• ช่วยขยายขอบเขตความสามารถของสมอง สมองยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะสะสมข้อมูล จัดระเบียบข้อมูลที่มีอยู่มากมายและกลั่นกรองออกมาเป็นเรื่องเดียวกันได้ ข้อมูลที่สังเคราะห์จะเป็นประโยชน์ในการคิดต่อยอดความรู้ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ
• ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ในการคิดเพื่อแก้ปัญหา วิธีที่นิยมคือการระดมสมอง (Brainstorming) เพื่อให้เกิดผลผลิตทางความคิดใหม่ๆ ความคิดเหล่านั้นนอกจากจะมีความหลากหลายแล้ว ยังผสมผสานปนเปกันระหว่างความคิดเห็นที่ไปทางเดียวกัน กับความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน การจะนำความคิดเหล่านี้มาใช้ประโยชน์และไม่ทิ้งให้สูญเปล่า อาจจะใช้วิธีการสังเคราะห์ โดยการทดลองผสมผสานแนวคิดเหล่านี้ที่ใช้การได้ เพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ที่สามารถตอบวัตถุประสงค์การคิดของเราได้
คิดสังเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์...สิ่งใหม่
การคิดเชิงสังเคราะห์ สามารถแบ่งรูปแบบการคิดได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. การคิดเชิงสังเคราะห์เพื่อการสร้าง "สิ่งใหม่" ซึ่งเป็นการประดิษฐ์สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ตามต้องการของเรา
2. การคิดเชิงสังเคราะห์เพื่อการสร้าง "แนวคิดใหม่" อันเป็นการพัฒนาและคิดค้นแนวความคิดใหม่ๆ ในประเด็นต่างๆ ตามที่ตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้

คิดสังเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์...แนวคิดใหม่ มีกระบวนการคิดที่สำคัญ 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของเรื่องที่ต้องการคิดเชิงสังเคราะห์ จะทำให้เราพบความสำเร็จไปแล้วเกินครึ่ง เนื่องจากเราจะทราบว่าหนทางที่ควรจะดำเนินต่อไปเป็นอย่างไร
2. การกำหนดขอบเขตของประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะใช้เป็นกรอบในการค้นหาแหล่งข้อมูล
โดยอาจเริ่มต้นที่ความคิด ความรู้ ความจำ หรือประสบการณ์เดิมที่เราเคยมี หากเราจะเริ่มทำการสังเคราะห์ จะต้องมีประเด็นอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง การกำหนดขอบเขต เปรียบเสมือนการหล่อแบบพิมพ์ไว้ เพื่อเตรียมเทข้อมูลต่างๆ ที่ผสมผสานกันแล้วลงในแบบพิมพ์ จนได้รูปลักษณ์และคุณภาพตามที่เราต้องการ
3. การกำหนดลักษณะของสิ่งที่จะนำมาสังเคราะห์ การจะเป็นผู้คิดเชิงสังเคราะห์ได้ดี จำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลที่ดี และเป็นข้อมูลที่ได้รับการกลั่นกรองอย่างน่าเชื่อถือมาแล้วระดับหนึ่ง เป็นแหล่งข้อมูลที่มีความชำนาญ ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นและกว้างไกล
4. การดึงเฉพาะแนวคิด (Concept) ที่เกี่ยวข้องมาใช้ โดยคัดสรรเฉพาะแก่นความคิดของข้อมูลที่ ตอบวัตถุประสงค์ของเรา โดยไม่สนใจรายละเอียดหรือประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งวิธีการจัดแนวคิดนั้น ต้องระดมสมองและใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยวิเคราะห์และนำเสนอประเด็นที่มาจากภูมิปัญญาของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน โดยที่ผู้เชี่ยวชาญจะแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย มีความเป็นอิสระ ไม่มีการเผชิญหน้ากัน เพื่อป้องกันไม่ไห้ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง ส่งผลโน้มน้าวผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่ง อันจะทำให้การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น อาจเอนเอียงไปจากความตั้งใจเดิมที่ควรจะเป็น
5. การจัดเรียงแนวคิดตามโครงที่ตั้งไว้ หรือสร้างแกนความคิดใหม่เพื่อตอบวัตถุประสงค์เมื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมารวมกัน โดยแยกตามประเภทแล้ว จากนั้นนำมาจัดระเบียบข้อมูลของแต่ละ
ประเภท ให้มีประเด็นใหญ่ ประเด็นย่อย ตามลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม
6. ขั้นทดสอบโครงร่างใหม่ เพื่อพิจารณาว่าโครงร่างใหม่ที่สร้างขึ้นมีความเหมาะสมหรือไม่ ดีที่สุดแล้วหรือยัง มีสิ่งใดต้องปรับเปลี่ยน จากนั้นจึงนำมาปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบต่อไป
7. การนำสิ่งที่สังเคราะห์ได้ไปใช้ประโยชน์ เมื่อเราได้ตัวแบบการสังเคราะห์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วนั้น ให้เรานำข้อมูลความคิดที่ได้จากการสังเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
การพัฒนาทัศนคติและนิสัยนักคิดเชิงสังเคราะห์
ไม่พอใจสิ่งเดิม...ชอบถามหาสิ่งใหม่
ไม่นิ่งเฉย...ชอบสะสมข้อมูล
ไม่จับแพะชนแกะ...ชอบเชื่อมโยงเหตุและผล
ไม่แปลกแยก...ชอบผสมผสาน
ไม่คลุมเครือ...ชอบคมชัดในประเด็น
ไม่ลำเอียง...ชอบวางตนเป็นกลาง
ไม่ยุ่งเหยิง...ชอบระบบระเบียบ
ไม่ท้อถอย...ชอบมานะพากเพียร
ไม่คิดแยกส่วน...ชอบคิด 10 มิติ

1 ความคิดเห็น:

  1. ท่าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เก่งมากจริงๆ

    ตอบลบ