วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

ม.มหิดลชี้อีเมลล์ "ห้ามกินกุ้งพร้อมวิตามินซี" หลอกลวง

ขณะนี้มีการส่งต่ออีเมลลูกโซ่ที่อ้างว่า ผู้หญิงไต้หวันคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างลึกลับจากเลือดออกทั่วร่างกาย โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่าเกิดจากชอบกินกุ้งพร้อมวิตามินซี สารเคมีของกุ้งกับวิตามินซีจะทำปฏิกิริยากันจนกลายเป็นพิษสารหนูสะสมในร่างกาย จึงขอเตือนให้ผู้ได้รับอีเมลฉบับนี้อย่ารับประทานวิตามินซีพร้อมกุ้ง ซึ่งข้อความในอีเมลดังกล่าวมีการอ้างถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จนน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากวิตกกังวลกับการกินวิตามินซี โดยสรุปข้อความส่วนหนึ่งได้ดังนี้"
ในอีเมลดังกล่าวยังระบุอีกว่า นักวิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโกเคยทดลอง พบว่าสัตว์เปลือกอ่อนเช่น กุ้ง มีสารประกอบอาเซนิกเข้มข้นในปริมาณสูง สารประกอบชนิดนี้เข้าไปอยู่ในร่างกายก็ไม่มีพิษภัยอะไร แต่เมื่อรับประทานวิตามินซีพร้อมกัน จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้สารประกอบเดิมที่มีสูตรเคมี As2O5 หรืออาเซนิกออกไซด์ซึ่งไม่มีพิษ กลายเป็นสารประกอบที่มีสูตรเคมี As2O3 หรืออาเซนิกไตรออกไซด์ ซึ่งมีพิษหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าสารหนูนั่นเอง พิษสารหนูจะทำให้เกิดอาการเลือดคั่งในหัวใจตับ ไต และลำไส้ เซลล์ผิวหนังตายด้าน เส้นโลหิตฝอยขยายตัว ดังนั้นผู้ที่รับพิษจนตาย จะมีเลือดออกทางทวารทั้งเจ็ด เพราะฉะนั้นในระยะที่รับประทานวิตามินซีต้องงดกินอาหารประเภทกุ้งเพื่อความไม่ประมาท
รศ.ดร.เอมอร วสันตวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนหลายแขนงสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างกุ้งกับวิตามินซีว่า เป็นไปตามที่อีเมลสยองฉบับข้างต้นกล่าวอ้างจริงหรือไม่ซึ่งก็ได้ค้นข้อมูลรายงานการวิจัยและรายงานวิชาการจากองค์กรอนามัยโลก ปรากฏว่าไม่พบรายงานหรือข้อมูลอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างปฏิกิริยาทางเคมีของการกินกุ้งกับวิตามินซีแต่อย่างใด และเมื่อปรึกษาไปยังผู้เชี่ยวชาญเรื่องพิษจากอาหารก็ได้รับการยืนยันว่าไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่อ้างถึงเรื่องนี้มาก่อน
ผอ.สถาบันวิจัยโภชนาการกล่าวต่อว่า เมื่อได้อ่านอีเมลสยองดังกล่าวอย่างละเอียดก็พบจุดน่าสงสัย 4 ประการคือ 1.ไม่มีชื่อหญิงชาวไต้หวันที่เสียชีวิต 2.ไม่มีชื่อและสถาบันของผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวช 3.ไม่มีชื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก และ 4.มีการอ้างปฏิกิริยาเคมีที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้เชื่อว่าเป็นเพียงอีเมลหลอกลวงที่เขียนขึ้น โดยอ้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ตามข้อเท็จจริงสัตว์ทะเลประเภทกุ้งจะมีสารประกอบอาเซนิกอยู่จริงแต่น้อยมาก และเป็นฟอร์มหรือรูปแบบที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายคน นอกจากนี้ยังไม่เคยพบว่าสารประกอบวิตามินซีไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารอาหารใดในร่างกายคน
อีเมลหลอกลวงนี้อ่านแล้วดูขลังและน่าเชื่อถือ เพราะมีอ้างสูตรเคมีแบบวิทยาศาสตร์และอ้างตำแหน่งศาสตราจารย์ และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ไม่มีการเขียนชื่อจริงเลย ยิ่งไปกว่านั้น สูตรเคมีที่อ้างว่าเป็นสารหนูหรืออาเซนิกไตรออกไซด์ ก็เป็นสูตรเคมีของสารหนูจริง แต่ไม่ได้เกิดจากการผสมระหว่างวิตามินซีกับการกินกุ้ง ส่วนใหญ่คนกินอาหารทะเลแล้วเกิดอาหารเป็นพิษร้ายแรง ก็จะเกิดจากสัตว์ทะเลตัวนั้นมาจากแหล่งน้ำที่สกปรก แล้วเกิดสะสมสารพิษในตัวมัน เมื่อคนกินเข้าไปร่างกายจึงได้รับความผิดปกติ และหากพิษแรงมากร่างกายก็จะขับออกมาโดยการอาเจียนทันที สรุปคืออีเมลฉบับนี้เป็นการหลอกลวง เพื่อให้คนอ่านตื่นตระหนก ไม่มีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์เลย รศ.ดร.เอมอร กล่าวอธิบาย
เช่นเดียวกับศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพิษจากอาหาร อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวยืนยันว่าไม่เคยมีงานวิชาการที่กล่าวถึงการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างสารอาเซนิกในกุ้งกับวิตามินซี ซึ่งที่จริงแล้ว "อาเซนิก (Arsenic)" คือสารประกอบที่เรียกว่าสารหนู ส่วน "อาเซนิกไตร-ออกไซด์ (Arsenic Trioxide)" เป็นสารหนูที่มีส่วนผสมของออกซิเจน 3 ส่วน เรียกทั่วไปว่ายาฆ่าแมลง ถ้าจะฆ่าคนก็ต้องนำอาเซนิกไตรออกไซด์มาผสมกับอาหารหรือใส่ไปในกุ้งเพื่อให้เกิดพิษกับร่างกายอย่างฉับพลัน แม้ในกุ้งจะมีสารอาเซนิกประกอบอยู่จริงแต่ก็น้อยมากจนไม่มีพิษและจะสลายไปในกระเพาะอาหาร ส่วนวิตามินซีนั้นจะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร และขับออกมากับปัสสาวะ หากร่างกายได้วิตามินซีมากผิดปกติ ในระยะยาวจะเกิดการสะสมเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่ไม่ได้ไปทำปฏิกิริยาเคมีกับสารอื่นจนทำให้เสียชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น